วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การนับศักราชแบบไทยและสากล


การนับศักราชแบบไทยและสากล
ศักราช หมายถึง ปีที่กำหนดเอาเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งซึ่งสำคัญมากสำหรับจดจารึกไว้ศักราชที่มีกำหนดไว้มี คือพุทธศักราช (พ.ศ.) รัตนโกสินทร์ศก หรือ ร.ศ.) จุลศักราช (จ.ศ.) คริสต์ศักราช(ค.ศ.) และมหาศักราช (ม.ศ.) ศักราชเหล่านี้เริ่มต้นนับแตกต่างกัน

1. การนับศักราชสากลที่นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบันคือ คริสต์ศักราช ซึ่งเป็นศักราชของคริสต์ศาสนา เริ่มนับเมื่อพระเยซูประสูติ (25 ธันวาคม) หลัง พุทธศักราช 543 ปี ซึ่งพระเยซูเป็นศาสดาของคริสต์ศาสนา เริ่มนับเป็นคริสต์ศักราช 1 (ค.ศ.1) หรือ A.D.1 ย่อมาจากคำว่า “Anno Domini” การนับศักราช ก่อนที่พระเยซูประสูติ เรียกว่า before christ เขียนย่อ ๆ ว่า B.C. ตัวอย่าง 1,000 ปี ก่อนคริสต์ศักราช เขียนว่า 1,000 B.C. หมายความว่า เป็นช่วงเวลา 1,000 ปี ก่อนพระเยซูประสูติ

2. การนับศักราชไทย ที่ใช้กันปัจจุบัน คือพุทธศักราช ซึ่งเป็นศักราชของพระพุทธศาสนา คือ พ.ศ.1 หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน (วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6) แล้ว 1 ปี คือ ปีแรกนับเป็น พ.ศ.0 เมื่อครบ 1 ปี จึงเริ่มนับ พ.ศ.1
นอกจากนับศักราชเป็นแบบ พ.ศ. แล้ว ในเมืองไทยยังมีการนับศักราชแบบอื่น ๆ ด้วย คือ รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) จุลศักราช (จ.ศ.) มหาศักราช (ม.ศ.) ฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) มีเกณฑ์การเทียบดังนี้

การเทียบศักราช ตัวอย่าง
ร.ศ. + 2324 = พ.ศ. พ.ศ. - 2324 = ร.ศ. ร.ศ.1+2324 = พ.ศ. 2325 ร.ศ. 227 = พ.ศ. 2551
จ.ศ. + 1181 = พ.ศ. พ.ศ. - 1181 = จ.ศ. จ.ศ.1+1181 = พ.ศ. 1182 จ.ศ.1370 = พ.ศ. 2551
ม.ศ. + 621 = พ.ศ. พ.ศ. - 621 = ม.ศ. ม.ศ.1+621 = พ.ศ. 622 ม.ศ.1930 = พ.ศ. 2551
ค.ศ. - 579 = ฮ.ศ. พ.ศ. - 1122 = ฮ.ศ. (ค.ศ. 2008 - 579)=(พ.ศ. 2551-1122) = ฮ.ศ.1429

3. ฮิจญ์เราะหฺศักราช (ฮ.ศ.) เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 1165 เมื่อปีที่ท่านนบีมุฮัมมัด อพยพจากเมืองเมกกะ (มักกะหฺ) ไปยังเมืองเมดีนา (มะดีนะหฺ) โดย ฮ.ศ. 1 ตรงกับ พ.ศ. 1165 แต่การเทียบรอบปี ของ ฮ.ศ. กับ พ.ศ. มีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกัน โดยทุก ๆ 32 ปีครึ่ง ของ ฮ.ศ. จะเพิ่มขึ้น 1ปี เมื่อเทียบกับ พ.ศ. ปัจจุบัน ฮ.ศ. น้อยกว่า พ.ศ. 1122 ปีและน้อยกว่า ๕.ศ. 579 ปี ฮิจญ์เราะหฺศักราช (ฮ.ศ.) นิยมใช้ในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ชาวไทยมุสลิมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันใช้ฮิจญ์เราะหฺศักราชเพื่อประกอบศาสนกิจ โดยฟังประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรี

4. จุลศักราช (จ.ศ.) เป็นการนับเดือนปีเป็นแบบทางจันทรคติ เริ่มนับ จ.ศ. 1 เมื่อปี พ.ศ. 1182 โดยนับเอาวันที่พระบุพโสระหัน สึกออกจากการเป็นพระมาเพื่อชิงราชบัลลังก์เป็นวันแรกของศักราช ในสมัยโบราณถือตามสุริยคติ (คัมภีร์สุริยยาตร) ใช้วันเถลิงศก (ปัจจุบันตกราว 16 เมษายน) เป็นวันปีใหม่ แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าให้ถือตามจันทรคติ คือใช้วันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปีเป็นวันสิ้นปี